วันพระ วันสำคัญที่อยู่คู่สังคมชาวพุทธมาช้านาน
คนไทยเราคุ้นเคยกับวันสำคัญทางพุทธศาสนากันอยู่แล้ว วันสำคัญทางพุทธศาสนาที่ 1 ปีจะเวียนมาบรรจบ 1 ครั้งต่อ 1 ปีอย่างเช่นวันวิสาขบูขา , วันมาฆบูชา ฯลฯ เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวิถีชาวพุทธมาช้านาน แต่เราต้องไม่ลืมเช่นกันว่ายังมีวันสำคัญทางพุทธศาสนาที่ซึ่งในช่วงเวลาหนึ่งเดือนนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายวัน นั่นก็คือ “วันพระ”
อะไรคือวันพระ รู้ได้อย่างไรว่าวันไหนคือวันพระ
วันพระมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “วันธรรมสวนะ” หรือจะเรียกอีกอย่างว่า “วันอุโบสถ” ก็ได้เช่นกัน มีความสำคัญในเรื่องที่ว่าเหล่าพุทธศาสนิกชน จะมาปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนากันอย่างพร้อมเพรียงในวันดังกล่าว โดยปกติแล้วในช่วงเวลา 1 สัปดาห์จะมีวันพระ 1 วัน ซึ่งนั่นหมายความว่าในช่วงเวลา 1 เดือนหรือ 4 สัปดาห์จะมีวันพระทั้งหมด 4 วันต่อเดือนนั่นเอง
ในปฏิทิน จะมีการกำหนดวันพระในแต่ละเดือนเอาไว้ว่าหากวันไหนของเดือนที่ตรงกับ วันขึ้น 8 ค่ำ , วันขึ้น 15 ค่ำ , วันแรม 8 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ นั่นถือว่าเป็นวันพระ แต่หากว่าเดือนไหนเป็นเดือนขาด (เดือนขาดหมายถึงเดือนที่วันสิ้นเดือนตรงกับวันแรม 14 ค่ำ มีเดือน 1 , 3 , 5 ,7 ,9 , 11) ก็ให้ยึดวันแรม 14 ค่ำเป็นวันพระ
มีข้อสังเกตจากหลายๆวัด ที่มีอิทธิพลต่อวันพระเช่นกัน จากประสบการณ์ของผู้เขียนนั้น ผู้เขียนเคยมีโอกาสอุปสมบท ณ วัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพ หากวันไหนที่ตรงกับวันพระ พระสงฆ์ในวัดก็จะออกบิณฑบาตไกลจากเส้นทางปกติเพื่อโปรดญาติโยม แต่ในทางกลับกัน ก็มีบางวัดที่ผู้เขียนเคยมีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับวิถีชีวิตของพระสงฆ์ในวัดบางแห่ง ที่ซึ่งในวันพระที่ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ จะไม่ออกบิณฑบาต และจะรอรับบาตรอยู่ที่วัดและมีการแสดงธรรมครั้งใหญ่
ที่มาของวันพระ
ในสมัยต้นพุทธกาล อันที่จริงแล้วนั้นพระพุทธเจ้าทรงยังไม่ได้วางระเบียบเกี่ยวกับเรื่องวันพระเอาไว้อย่างชัดเจนเท่าไหร่ ซึ่งผู้ที่มีส่วนสำคัญในการทำให้วันพระมีบทบาท มีความสำคัญต่อพุทธศาสนิกชนก็คือพระเจ้าพิมพิสาร ผู้ซึ่งเลื่อมไสในพระพุทธองค์ โดยพระเจ้าพิมพิสารมีโอกาสได้เข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในครั้งหนึ่ง
พระองค์ได้กราบทูลพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับพระราชดำริของพระองค์เองว่า ศาสนาอื่นยังมีวันประชุมเหล่าสาวกและนักบวชทั้งหลาย เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับหลักธรรม และคำสั่งสอนประจำศาสนาของพวกเขาเอง แล้วทำไมพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าเองถึงยังไม่มีวันประชุมพุทธสาวกเหมือนกับศาสนาอื่นบ้าง
พระพุทธองค์ทรงเห็นด้วยกับพระราชดำริของพระเจ้าพิมพิสาร พระองค์ได้ทรงอนุญาตให้เหล่าพุทธสาวก พระสงฆ์ ได้มีวันที่จะสามารถทำให้พวกเขามีประชุมกัน เพื่อเผยแพร่คำสอน อนุญาตให้พระสงฆ์ได้แสดงธรรมต่อญาติโยม ทำกิจกรรมต่างๆเกี่ยวกับพุทธศาสนาในวันนั้นๆ ซึ่งพระองค์ได้พิจารณาเลือกวัน 8 ค่ำ และ 15 ค่ำเป็นหลัก ซึ่งได้ปรากฎเป็นหลักฐานในพระไตรปิฎกว่าพระพุทธองค์เรียกวันดังกล่าวว่า “วันอุโบสถ” หรือ “วันพระ” โดยจะกำหนดให้ตรงกับวัน 8 ค่ำ และ 15 ค่ำ แต่ถ้าหากว่าเดือนไหนเป็นเดือนขาด ก็ให้ยึดวัน 14 ค่ำเป็นวันพระอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว
วันพระในประเทศไทย
มีหลักฐานในหน้าประวัติศาสตร์ได้ระบุเอาไว้ว่า การทำกิจกรรมทางศาสนาในวันพระ ได้ริเริ่มมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว สำหรับผู้ที่เคร่งครัดในพระพุทธศาสนา บางคนอาจจะไปถือศีลอยู่ที่วัดเลยก็มีเช่นกัน บางคนที่เป็นนักดื่ม ก็เลือกที่จะงดดื่มสุราในวันพระ อีกทั้งในอดีตประเทศไทยยังเคยระบุให้วันพระเป็นวันหยุดราชการมาแล้ว ก่อนที่จะยกเลิกไป
ตัวอย่างของวันพระที่คนไทยรู้จักกันดี
นอกเหนือจากวันพระที่เป็นวันแรม 8 ค่ำ และวันขึ้น 15 ค่ำแล้วนั้น ยังมีวันพระที่เหล่าพุทธสาวกรู้จักกันอย่างขึ้นใจ ซึ่งวันพระลักษณะนี้เราสามารถเรียกได้อีกอย่างว่าวันพระใหญ่ ดังนี้
วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และดับขันปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 เป็นวันที่ในสมัยพุทธกาล ได้เกิดเหตุการณ์ที่พระสงฆ์จำนวน 1250 รูปได้มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงได้แสดงธรรม “โอวาทปาติโมกข์” ในครานั้น
วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ถือว่าเป็นวันเริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกของพระพุทธเจ้า โดยในสมัยพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมจากการที่พระองค์ได้ตรัสรู้ด้วยตัวพระองค์เอง
เราสามารถทำอะไรได้บ้างในวันพระ
อย่างที่ได้เรียนกันไปแล้วว่า วันพระคือวันที่เหล่าพุทธศาสนิกชนจะมารวมตัวกันเพื่อฟังธรรม พระสงฆ์จะขึ้นแสดงพระธรรมเทศนา เหล่าพุทธสาวกจะปฏิบัติกิจกรรมเช่นทำบุญ ถวายสังฆทาน บางคนก็จะเคร่งครัดในระดับที่ว่ามาบวช ถือศีลอยู่ที่วัดหนึ่งวันหนึ่งคืนในวันพระก็มี และนี่คือตัวอย่างที่เหล่าพุทธสาวกมักจะทำกันในวันพระ
- ทำวัตรสวดมนต์ ถือว่าเป็นภารกิจที่พระสงฆ์ทุกวัดจะต้องทำในวันพระ เริ่มจากการสวดมนต์ก่อน และเมื่อพระสงฆ์ปฏิบัติภารกิจจุดนี้เสร็จสิ้นแล้ว ก็จะเป็นฝ่ายของเหล่าอุบาสกอุบาสิกาที่จะเริ่มต้นทำวัตรสวดมนต์ต่อจากพระสงฆ์
- รับศีล อย่างที่ได้กล่าวไปว่าหากผู้ที่มาทำบุญในวันพระเป็นผู้ที่เคร่งครัด ก็จะยกระดับตัวเองจากการสมาทานศีล 5 แบบที่ปฏิบัติในวันทั่วๆไป กลายมาเป็นการสมาทานอุโบสถศีล หรือที่เรารู้จักในชื่อว่าการถือศีล 8 ที่จะมีระดับความเคร่งครัดที่มากขึ้น
- ฟังธรรมจากการแสดงธรรมของพระสงฆ์
- ฝึกหัดบำเพ็ญจิตภาวนา
- ถวายสังฆทาน